2015 ปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 125 ปี อันยิ่งใหญ่ของกลุ่มอลิอันซ์

ปกป้องอนาคต พร้อมเคียงข้างและช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน…

ในปี ค.ศ.2015 นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญสำหรับกลุ่มอลิอันซ์ บริษัทผู้ถือหุ้นหลักของบมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เพราะเป็นปีที่ครบรอบการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานถึง 125 ปี กลุ่มอลิอันซ์จึงจัดกิจกรรมที่สามารถต่อยอดความยั่งยืนของสังคมใน20กว่าประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลกพร้อมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และองค์ความรู้จากการดำเนินธุรกิจที่สั่งสมมาถึง125 ปี คืนกลับสู่สังคม ภายใต้แนวคิด “Protecting Future”

  • การเสวนาเชิงวิชาการเพื่อรับมือกับปัญหาสำคัญของมนุษยชาติในอนาคต ได้แก่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและ ปัญหาโครงสร้างประชากรที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงวัย
  • กิจกรรมการกุศลร่วมกับพนักงาน ตัวแทนและลูกค้าในอัฒจรรย์ที่อลิอันซ์ให้การสนับสนุน ได้แก่ ลอนดอน มิวนิค นีซ เซาเปาโล และ ซิดนีย์
  • การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอลิอันซ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาและสิ่งแวดล้อม
  • การมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยชั้นนำของยุโรปให้กับเยาวชนทั่วโลกถึง 125 ทุน

ด้วยความมั่นคง ความแข็งแกร่งทางการเงิน และประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานกว่า 125 ปี จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่กลุ่มอลิอันซ์ ถือเป็นหนึ่งในบริษัทด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งปัจจุบันได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าถึงกว่า 83 ล้านคน ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ให้ช่วยปกป้องและคุ้มครอง เคียงข้างคุณทุกจังหวะชีวิต...

รู้จักกับคุณค่าหลักของกลุ่มอลิอันซ์

คุณค่าหลักขององค์กร แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามคืน แต่เป็นสิ่งที่ก่อร่างสร้างขึ้นภายในองค์กรและได้รับการปฏิบัติต่อเนื่องโดย พนักงานหลายต่อหลายรุ่น วันนี้เราอยากให้คุณ ได้ทำความรู้จักและเรียนรู้ถึงคุณค่าหลักของกลุ่มอลิอันซ์ ซึ่งได้รับการปฏิบัติมาตลอด 125 ปี และจะเป็นแนวทางให้พวกเราทุกคน ใช้ก้าวไปข้างหน้าต่อไปในอนาคต....

Responsible

เราคือส่วนหนึ่งในความสำเร็จ
เราดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์และความเป็นมืออาชีพ
เราเปิดเผย โปร่งใส และยึดถือมาตรฐานทางจริยธรรมระดับสูง
เราทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง พันธมิตร และรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้
เราได้รับความไว้วางใจ ในฐานะพันธมิตรที่จริงใจ ซื่อสัตย์และยุติธรรม

Caring

เราพร้อมอยู่เคียงข้างลูกค้าและมีกันและกันเสมอมา
เรารับฟังอย่างตั้งใจและด้วยความเคารพ
เราให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้ใจ ความสัมพันธ์ระยะยาว พร้อมเข้าใจความต้องการของทุกฝ่าย
เราพร้อมอยู่เคียงข้างกันและกัน
เราให้ความใส่ใจเต็มที่และภูมิใจในความสำเร็จที่ได้มา

Connected

เราแข็งแกร่งเมื่ออยู่ร่วมกัน
เราทำงานและร่วมมือเป็นทีมเดียวกัน
เราแบ่งปันความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้
เรานำความเป็นที่สุดในระดับโลกมาผลานให้เข้ากับบริบทของระดับท้องถิ่น
เราเห็นคุณค่าและเชิดชูความหลากหลาย

Excellent

เรามุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ
เรากระตือรือร้นและมีความมั่นใจ แต่ยังคงไว้ด้วยความถ่อมตน
เรามีเป้าหมายชัดเจนและทุ่มเทกับการสร้างผลงานที่เป็นเลิศ
เรามองหาโอกาสเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เรามุ่งใช้ความพยายามที่เรามีไปกับสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจและความสำเร็จ

5 วิทยากรที่จะมาจุดประกายความคิด ว่าการเตรียมตัวรับสังคมสูงวัย ไม่ไกลตัวอีกต่อไป

คาดการณ์กันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรไทยสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด และอีก 35 ปีข้างหน้า หรือปี 2593 โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้น 33% คิดเป็นจำนวน 9.6 พันล้านคน!!

สถิตินี้กำลังบอกอะไรกับเราบ้าง...แน่นอนว่าทรัพยากรโลกจะไม่สมดุลอีกต่อไป เพราะคนมากขึ้นแต่ปัจจัยเลี้ยงชีวิตในโลกยังเท่าเดิม และคนรุ่นใหม่ในอนาคตจะกลายเป็น “มนุษย์เมืองวัยทำงาน” ที่มุ่งแข่งขันและเอาตัวรอดจนละเลยกลุ่มผู้สูงอายุ ในขณะที่คนรุ่นนี้เองก็กลับมองข้ามแนวโน้ม ไม่คิดหรือวางแผนเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยชราภาพ ไม่สนใจบริหารจัดการชีวิตทั้งสุขภาพและการเงินเพื่อรองรับกับอัตราประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ในเมื่อรู้ทั้งรู้ว่ากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค “สังคมสูงวัย” อย่างเลี่ยงไม่ได้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมมือกันนำเสนอวิธีรับมือกับความชราอย่างสร้างสรรค์
ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 125 ปีของกลุ่มอลิอันซ์จึงได้จัดเวทีเพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างการตระหนักรับรู้ถึงเทรนด์สังคมผู้สูงวัย ภายใต้ชื่องาน Allianz Employee Dialog ในหัวข้อ “สังคมสูงวัย คนไทยเตรียมรับมืออย่างไร” โดยได้รับเกียรติจาก ไบรอัน สมิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์โดยตรงมาร่วมแบ่งปันข้อมูลความรู้ หวังกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวกับปัญหา และเตรียมรับมือทั้งในระดับปัจเจกและสังคมได้อย่างเหมาะสม

ก่อนจะแนะนำให้ทุกคนตระเตรียม “อาวุธ” เพื่ออยู่รอดในสังคมผู้สูงวัย เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง Urban Design and Development Center : UDDC เผยว่า โลกกลายเป็นเมืองมากขึ้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ประชากรเกินกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง และอีกประมาณ 15 ปี ข้างหน้า ประชากรสามในสี่ของโลกจะอยู่ในเมือง และจะมีคนสูงวัยที่เกษียณอายุงานช้าลง (ปรากฏการณ์ “แรงงานผมสีดอกเลา”) มากกว่าวัยรุ่น และแนวโน้มนี้จะยังคงอยู่อย่างน้อยอีก 20 ปี

“สิ่งนี้ทำให้เราต้องคิดแล้วว่าจะออกแบบวางผังเมืองและพัฒนาเมืองอย่างไร ขอยกตัวอย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีการคิดค้นและตั้งรับด้วยนโยบายและมาตรการต่างๆ เน้นการเคลื่อนที่ในระดับเมืองให้มีความสะดวกสบายและเป็นมิตรกับผู้สูงวัย มีการวางพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กไว้ตามย่านต่างๆ สร้างพื้นที่ให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมาทั้งชีวิตให้กับคนรุ่นหลัง และมีระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงผู้สูงวัยตั้งแต่ประตูบ้าน จึงทำให้เราเห็นผู้สูงวัยญี่ปุ่นใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข หันมามองที่บ้านเราบ้าง เราจะเข้าสู่สังคมสูงวัยในช่วงปี 2563 จึงน่าจะพัฒนาพื้นที่ย่านเก่าในกรุงเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนทั้งประสบการณ์ ความรู้และเครือข่าย รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อให้คนในชุมชนได้ออกมาใช้ชีวิต มีกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อเอื้อให้คนสูงวัยมาเจอกับคนรุ่นหลัง โดยเริ่มต้นจากการปรับทัศนคติ สร้างโอกาส และเพิ่มพื้นที่เอื้อให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ศักยภาพที่มีได้อย่างเต็มที่ในเมืองที่ไร้พรมแดนแห่งวัย”

นอกจากต้องพึ่งพาภาครัฐในการสร้างสรรค์นโยบายภาพรวมแล้ว ก็จำเป็นต้องมองถึงภาคเอกชนด้วย ซึ่งปัจจุบันมีความตื่นตัวกันมากขึ้น และนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่คนรุ่นใหม่ต่างขบคิดหาทางออกและสร้าง “คู่มือ” สำหรับผู้สูงวัยกันมากขึ้น โดยมีนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัยเกิดขึ้นแล้ว อย่าง ‘หุ่นยนต์ดินสอ’ หุ่นยนต์บริการดูแลผู้สูงวัย

เฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด กล่าวว่า นวัตกรรมต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้จริง โดยเฉพาะการช่วยเหลือมนุษย์ และเมื่อตั้งโจทย์ว่าทำเพื่อผู้สูงอายุ จึงออกสำรวจพบหลายประเทศยังขาดแคลนคนดูแลผู้สูงอายุ จึงได้สร้างหุ่นยนต์ดินสอขึ้นมาเพื่อบริการผู้สูงอายุ ให้บริการเสิร์ฟน้ำและยา โทรหาแพทย์ฉุกเฉินได้ และพัฒนาต่อเป็น “ดินสอมินิ” เพื่อรองรับผู้สูงอายุนอนติดเตียง ทำหน้าที่เสมือนเพื่อน ทำงานผ่านระบบเซ็นเซอร์เฝ้าจับสังเกตผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา พร้อมฟังก์ชั่นอื่นๆที่มีประโยชน์อย่างครบครัน เช่น ปุ่มโทรออกถึงบุตรหลาน บทสวดมนต์หรือบทธรรมะที่สามารถท่องตามได้ สามารถคุยกับแพทย์ ฝึกออกกำลังกาย หรือเตือนให้กินยา ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการมากทั้งในโรงพยาบาล และบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง

จะเห็นว่าหลายภาคส่วนต้องการมีส่วนร่วมลดผลกระทบ รับมือกับความเปลี่ยนแปลง และช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหาทั้งนั้น แต่เราจะรอพึ่งพิงองค์ประกอบภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งสำคัญควรเริ่มจาก “ตัวเรา” ก่อน ต้อง ตระเตรียมความพร้อมให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะมุมมองทางการเงิน ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนในระบบบำนาญประมาณ 250,000 ล้านบาท แต่ในอีก 25 ปีคาดว่าจะเพิ่มเป็น 470,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้รัฐบาลยังต้องจัดสรรงบประมาณไปยังส่วนสำคัญอื่นๆด้วย จึงยังไม่มีมาตรการใดออกมารองรับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตอย่างชัดเจน

“ทางออกที่ดีที่สุด ทุกคนต้องเตรียมความพร้อมด้านการเงินเฉพาะบุคคล ซึ่งคนไทยต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการออม จากที่เข้าใจว่ารายได้หักรายจ่ายคือการออมเปลี่ยนเป็น “รายได้หักการออมเหลือเท่าไหร่ค่อยเอาไปใช้” และต้องออมอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้ทักษะ ประสบการณ์ ให้ความสำคัญกับสุขภาพ เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายมหาศาลในอนาคตอีกด้วย”

ดวงจิต ศิริมังคโลดม หรือ ไว ไกลหมอ ผู้ก่อตั้งบริษัทครีเอทีฟ เอเจนซี่ ที่ผันตัวมาเป็นนักสื่อสารสุขภาพเจ้าของเพจ “ไกลหมอ” จึงขันอาสาแบ่งปันเทคนิคดูแลสุขภาพแบบ “ป้องกันดีกว่าแก้ไข” โดยตอกย้ำว่า อย่าปล่อยให้คนที่ไม่รู้จักมาเป็นหมอรักษาตัวเรา เพราะทุกคนเป็นหมอของตัวเองได้ เซลล์ในร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ ดังนั้น ตัวเราเองต้องรู้ลึก รู้จริง

เริ่มจาก “อากาศ” ถึงแม้คนเมืองจะเลือกอากาศของตัวเองไม่ได้ แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะเอาอากาศเข้าตัวอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดได้ ดังนั้นทุกคนจำเป็นต้องหายใจอย่างถูกวิธี หายใจเข้าพุงป่อง หายใจออกพุงแฟบ ต่อมาคือเรื่อง “น้ำดื่ม” ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมสามารถคำนวนได้จากน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 50 ซีซี ( 50 กิโลกรัม= 2.5 ลิตร) รวมทั้งต้องบริโภค “ผักสด” เพราะมีเอนไซม์ และควรกินอย่างปลอดสารเคมีด้วยการล้างน้ำด่างที่มีค่า PH >11 ขึ้นไป หรือใช้เบกกิ้งโซดา ไม่เพียงแต่หลักโภชนาการเท่านั้น ยังต้องคำนึงถึงเรื่องจิตใจ ใส่ใจให้รอยยิ้มและอ้อมกอด หมั่นใช้หลักการเคารพตัวเองดูแลตัวเองและพึ่งพิงยาให้น้อยลง

ในขณะเดียวกันเมื่อต้องอยู่ในช่วงวัยผู้สูงอายุจริงๆแล้ว เราก็ควรมองความตายให้เป็นเรื่องธรรมดา และให้ความสำคัญคุณภาพความตาย ซึ่ง คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ประธานกรรมการโรงพยาบาลจักษุรัตนิน และนักเขียนชื่อดังในวัย 76 ปี กล่าวว่า หลังจากรับรู้พฤติกรรมก่อนตายของหลายๆคน พบว่า ความพยายามยื้อชีวิตด้วยการสอดท่อช่วยชีวิตต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความทรมานของผู้ที่ยังมีลมหายใจสุดท้าย และบ่งบอกว่าสังคมยังไม่ตระหนักถึงคุณภาพความตายที่ดี และเข้าใจสิทธิไม่เข้ารับการรักษาในระบบสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

“เราจะพูดถึงคุณภาพความตายคือ กายไม่ทุกข์ทรมาน ไม่อึดอัด ไม่เจ็บปวด ใจไม่วิตกกังวล ไม่โกรธ ไม่หงุดหงิด ไม่หวาดกลัวสังคมหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งความเชื่อที่ไม่รู้สึกขัดแย้งในใจ ไม่รอคอย ไม่กังวล ไม่เป็นห่วง จิตวิญญาณสุขสงบจากอิสรภาพ จากการยึดติดวัตถุและอารมณ์ จากการยึดติดกายใจและสังคมนั่นเอง”

นับเป็นการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ “สังคมผู้สูงวัย” ครบรอบด้าน ทั้งสร้างความตระหนักและมีความพยายามเสนอทางแก้ไขอย่างเป็นระบบหลากหลายรูปแบบ

สายสมร เลิศคชลักษณ์
+66 (2) 3057408
saisamorn.l@allianz.co.th
ภาริสา ฉายากุล
+66 (2) 3057971
parisa.c@allianz.co.th